หลักการสำคัญในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
I. หลักการไม่เลือกปฏิบัติ
(Non-Discrimination Principles)
การไม่เลือกปฏิบัติเป็นหลักการสำคัญหนึ่งของแกตต์ (GATT) และองค์การการค้าโลก หลักการนี้ประกอบด้วย 2 หลักการสำคัญ คือการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-favoured-nation
Treatment: MFN) และการปฏิบัติเยี่ยงชาติ (National Treatment)
1. การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (The Most-Favoured-Nation Treatment: MFN)
หลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) หมายถึง การที่ประเทศคู่สัญญา เมื่อได้ให้สิทธิประโยชน์อย่างดีที่สุดแก่ ประเทศหนึ่งประเทศใด ก็ต้องให้สิทธิประโยชน์เช่นว่านั้นแก่ทุกประเทศที่เป็นคู่สัญญาอื่นด้วย การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยทั่วไปมักนำหลักการ MFN มาเป็นหลักการพื้นฐานในสนธิสัญญา เช่น สนธิสัญญาระหว่างสหรัฐอเมริกากับฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 (Jackson, 1997: 158) และสนธิสัญญาบาวริงระหว่างอังกฤษกับสยามในปี 2398
ความตกลงแกตต์ก็เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่นำหลักการ MFN มาบัญญัติไว้เป็นหลักการพื้นฐาน การนำหลักการ MFN มาบัญญัติไว้เป็นหลักการพื้นฐานนี้มีเหตุผลสนับสนุนทั้งด้านเศรษฐศาสตร์และด้านการเมือง (Jackson, 1997:158-160)
เหตุผลสนับสนุนทางด้านเศรษฐศาสตร์ คือ การนำหลักการ MFN มาใช้ในแกตต์ทำให้กลไกตลาดถูกบิดเบือนลดลง กล่าวคือ เมื่อภาคีสมาชิกใช้มาตรการการส่งออกหรือการนำเข้าสินค้า โดยไม่คำนึงว่าสินค้านั้นส่งออกหรือนำเข้าจากประเทศใดแล้ว ระบบตลาดจะทำงานได้ดีขึ้น และการค้าเสรีจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เมื่อภาคีสมาชิกให้สิทธิประโยชน์แก่สินค้าใด ก็ต้องขยายการให้สิทธิประโยชน์เหล่านั้นแก่สินค้าที่เหมือนกันแก่ทุกประเทศภาคีแล้ว ต้นทุนธุรกรรม (Transaction Cost) จะลดลง กล่าวคือ เมื่อภาคีสมาชิกได้ให้สิทธิประโยชน์แก่สินค้าของภาคีสมาชิกอื่นทุกประเทศเจ้าหน้าที่ศุลกากรก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบว่า สินค้ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศใด การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ก็เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
เหตุผลสนับสนุนทางด้านการเมือง คือ การนำหลักการ MFN มาใช้ในแกตต์ช่วยลดความตึงเครียดในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวคือ เมื่อภาคีสมาชิกให้สิทธิประโยชน์แก่สินค้าของภาคีสมาชิกหนึ่งแต่ไม่ให้สิทธิประโยชน์หรือให้สิทธิประโยชน์นั้นแก่สินค้าของอีกภาคีสมาชิกหนึ่งน้อยกว่าก็จะทำการเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น
2. การปฏิบัติเยี่ยงชาติ (National Treatment)
หนึ่งหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติเป็นการปฏิบัติต่อผลิตภัณฑ์นำเข้าไม่ด้อยกว่าการปฏิบัติต่อผลิตภัณฑ์ภายในประเทศที่เหมือนกัน
ทางปฏิบัติของหลัก MFN คือมีการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีศุลกากร (non-taiff barriers) ต่อสินค้านำเข้า ทำให้สินค้านำเข้าเสียเปรียบสินค้าที่ผลิตภายในประเทศจึงเรียกร้องให้ต้องปฏิบัติต่อสินค้าที่นำเข้าในมาตรฐานเดียวกันกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ
II. หลักการต่างตอบแทน Reciprocity
หลักการต่างตอบแทน (Reciprocity) เป็นหลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่งของความตกลงภายใต้ GATT และองค์การการค้าโลก หลักการต่างตอบแทนกำหนดให้เมื่อประเทศหนึ่งให้ประโยชน์แก่อีกประเทศหนึ่ง ประเทศที่ได้รับจะเสนอประโยชน์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันและใกล้เคียงกันเป็นการตอบแทน
หลักการต่างตอบแทนช่วยทำให้หลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) มีบทบาทที่เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น กล่าวคือเมื่อประเทศภาคีเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกันตามหลักการต่างตอบแทนแล้ว ผลประโยชน์ที่แลกเปลี่ยนกันนี้จะตกไปยังประเทศภาคีอื่นที่ไม่ได้ร่วมเจรจาด้วย ตามหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง และเชื่อกันว่า หลักการต่างตอบแทนสร้างความเป็นธรรมในการเจรจาการค้า เพราะไม่ควรมีประเทศใดที่เป็นผู้ให้ฝ่ายเดียวโดยไม่มีการตอบแทน นักเจรจาการค้าเห็นว่า หลักการต่างตอบแทนหมายถึงการได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียมกันหรือในภาษาละตินเรียกว่า Quid Pro Quo (ทัชชมัย ฤกษะสุต 2546:42)
หลักการต่างตอบแทนและหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งจะทำให้ทุกประเทศได้รับสิทธิประโยชน์จากการเจรจามากที่สุดและเป็นธรรมมากที่สุด(สุรเกียรติ เสถียรไทย 2531:51)
เนื่องจากหลักการต่างตอบแทนเป็นสรณะในการเจรจาการค้าทำให้มีความพยายามพัฒนาดัชนีเพื่อวัดมูลค่าของข้อลดหย่อนระหว่างกันแต่การวัดมูลค่าข้อลดหย่อนระหว่างกันนี้มีปัญหา 2 ประการ คือ ปัญหาทางทฤษฎี และปัญหาทางปฏิบัติ
ปัญหาทางทฤษฎีมีข้อวิจารณ์อย่างน้อย 3 ประการคือ
(1) หลักการต่างตอบแทนทำให้ประเทศที่มีภาษีศุลกากรในอัตราที่ต่ำเสียเปรียบในการเจรจา
(2) ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเห็นว่า หลักการต่างตอบแทนสร้างความไม่เป็นธรรมในการเจรจาการค้า เนื่องจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดต้องการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศบางประเทศเพื่อการพัฒนา และ
(3) ไม่มีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการประเมินว่าอย่างไรเป็นการต่างตอบแทนและได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
สำหรับปัญหาในทางปฏิบัตินั้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนอัตราภาษีศุลกากรของแต่ละประเทศ (Jackson1969:241-243)
รูปแบบของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมีได้หลายรูปแบบและมีวิวัฒนาการแตกต่างกันโดยแต่ละรูปแบบจะมีความเข้มข้นของความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันแตกต่างกันไป
1. ข้อตกลงการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร (Preferential Tariff Agreement) เป็นข้อตกลงเพื่อลดภาษีให้แก่กันและกัน โดยอัตราภาษีที่เรียกเก็บจะน้อยกว่าอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากประเทศที่สาม เช่น การรวมตัวกันของกลุ่ม LAIA (Latin American Integration Association), ASEAN และ Trade Expansion and Cooperation Agreement เป็นต้น
2. สหภาพศุลกากรบางส่วน (Partial Customs Union) การรวมตัวทางเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ประเทศที่ทำข้อตกลงกันยังคงอัตราภาษีไว้ในระดับเดิม แต่มีการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรในการค้ากับประเทศภายนอกกลุ่มร่วมกัน (Common external tariff)
3. เขตการค้าเสรี (Free Trade Areas) ในเขตการค้าเสรี การซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศภาคีสามารถทำได้อย่างเสรีปราศจากข้อกีดกันทางการค้า ทั้งมาตรการทางภาษี และมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ในขณะเดียวกัน แต่ละประเทศสมาชิกยังคงสามารถดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศนอกกลุ่มได้อย่างอิสระ เช่น การรวมตัวกันของกลุ่ม EFTA, NAFTA และ CER เป็นต้น
4. สหภาพศุลกากร (Customs Union) เป็นรูปแบบของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีระดับความเข้มข้นสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง โดยการรวมกลุ่มในลักษณะนี้นอกจากจะขจัดข้อกีดกันทางการค้าออกไปแล้ว ยังมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรในการค้ากับประเทศภายนอกกลุ่มร่วมกัน และให้มีอัตราเดียวกันด้วย (Common external tariff) เช่น การรวมตัวกันของกลุ่ม MERCOSUR, Equatorial Customs Union and Cameroon และ African Common Market เป็นตัน
5. ตลาดร่วม (Common Market) รูปแบบของการรวมกลุ่มประเภทนี้นอกจากจะมีลักษณะเหมือนกับสหภาพศุลกากรแล้ว การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต (แรงงาน ทุน และเทคโนโลยี) สามารถทำได้อย่างเสรี เช่น การรวมตัวกันของกลุ่ม EU ก่อนปี 1992
6. สหภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Union) นอกจากจะมีการค้าเสรี การเคลื่อนย้าย ปัจจัยการผลิตอย่างเสรี และนโยบายการค้าร่วมแล้ว ยังมีการประสานความร่วมมือกันในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงิน และการคลังอีกด้วย เช่น การรวมตัวของกลุ่ม EU ในปัจจุบัน
7. สหภาพทางเศรษฐกิจแบบสมบูรณ์ (Total Economic Union) เป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มข้นมากที่สุด จะมีการจัดตั้งรัฐบาลเหนือชาติ (Supranational government) และมีนโยบายทางเศรษฐกิจเดียวกัน
เหตุผลของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น ความล่าช้าในการเจรจาในรอบอุรุกวัย ซึ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ เกรงถึงการล่มสลายของการเจรจา และทำให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มเศรษฐกิจกันมากขึ้น และรวมถึงการขยายขนาดของกลุ่มเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วเดิม โดยการรับสมาชิกเพิ่มเติม อีกเหตุผลหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ คือ การมีวิวัฒนาการของการก่อตัวของเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือจากเดิมเป็นลักษณะทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เป็น NAFTA ซึ่งรวมเม็กซิโกไว้ด้วยในปี 1994 ในขณะที่กลุ่มสหภาพยุโรปเริ่มมีการปรับรับสมาชิกเพิ่มเติม และพัฒนาก้าวสู่ความเป็นยุโรปตลาดเดียว พัฒนาการจากทั้งสองกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่กระตุ้นให้โดยเฉพาะประเทศเล็กที่กำลังพัฒนาก่อตัวเป็นกลุ่มเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนั้น นานาประเทศตระหนักว่าการที่มีตลาดใหญ่ การร่วมใช้ทรัพยากร การแบ่งงานกันทำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียงกันจะนำไปสู่พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและสามารถแข่งขันกับตลาดใหญ่ๆ ได้
กลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคต่างๆ ของโลก มีดังนี้
1. สหภาพยุโรป EU
2. เขตการค้าเสรีแห่งทวีปอเมริกา FTAA
3. เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ NAFTA
4. กลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง MERCOSUR
5. กลุ่มประชาคมแอนเดียน Andean Community
6. ประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ SADC
7. สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ASEAN
ผลที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มทางการค้า
การสร้างการค้า (Trade Creation) เกิดขึ้นเมื่อประเทศสมาชิกของความตกลง (ประเทศ A) เพิ่มการนำเข้าจากประเทศคู่ค้า (ประเทศ B) โดยมิได้ลดการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ (Rest of the World : ROW) เนื่องจากการลดภาษีสินค้านำเข้าระหว่างประเทศคู่ค้าทำให้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศ B มีราคาต่ำลง การเพิ่มการนำเข้าเป็นผลจากการเพิ่มการบริโภคและการลดการผลิตในประเทศ A การสร้างการค้าจึงถือเป็นผลประโยชน์ (Benefit) ที่เกิดกับประเทศสมาชิกและกับโลกโดยรวม
การเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) เกิดขึ้นเมื่อประเทศสมาชิก (ประเทศ A ) นำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้า (ประเทศ B) ที่ราคาสินค้าต่ำกว่าราคาสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ ( ROW) ทั้งที่ประเทศ B ไม่ได้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าอย่างแท้จริง แต่ราคาสินค้าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากประเทศ B ได้รับการลดภาษีจากการทำความตกลงการค้าเสรี ดังนั้นการที่ประเทศ A ลดการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ ลงและเพิ่มการนำเข้าจากประเทศ B ทดแทนถือว่าเป็นการเบี่ยงเบนทางการค้า ซึ่งถือว่าเป็นผลเสีย (loss)
การบ่ายเบนทางการค้า (Trade Deflection) หมายถึงการสวมสิทธิ์ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกความตกลง การที่ประเทศสมาชิกมีอิสระในการดำเนินนโยบายภาษีนำเข้ากับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก อาจนำไปสู่ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก มายังประเทศสมาชิกที่มีภาษีนำเข้าต่ำกว่า และส่งต่อไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ
อันนี้ขอใช้เป็นสรุปย่อไว้ทวนตอนสอบ Final นะคะ
ตอบลบดีมากมากเลยค่ะวิธีนี้
สรุปเนื้อหาได้ดีมากๆครับ จากการฟังบรรยายยังสับสนอยู่แต่พอมาอ่านสรุปแล้วเข้าใจมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการเรียนมากเลยครับ เราน่าจะใช้วิธนี้ในการเรียนวิชาอื่นๆด้วยนะครับ
ตอบลบพรศักดิ์ 521532195
ยินดีด้วยนะกลุ่ม 6 มีคนชม
ตอบลบประหยัด 521532193
เป็นเนื้อหาที่ตรงกับการสอบ Final พอดี เอาไปเป็นแนวทางอ่านเพิ่มเติม และ อย่าลืมทำรายงานด้วยนะครับ
ตอบลบ521532171 จักรี ทุ่งแจ้ง