วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

'นเรศวร'รับ160ล.สร้างนวัตกรรมพลังงานดทแทน

'นเรศวร'รับ160ล.สร้างนวัตกรรมพลังงานดทแทน

29 สิงหาคม 2549 11:17 น.
รัฐบาลญี่ปุ่นหนุนให้พัฒนา "ไมโครกริด" เชื่อมไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ป้อนชุมชนท้องถิ่นแทนไฟฟ้าระบบหลัก เล็งอีก 3 ปีใช้งานจริงเป็นแห่งแรกในโลก

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้รับทุนจากกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่นกว่า 160 ล้านบาท เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนาโครงการ "พีวี ไมโคร กริด ซิสเต็ม" (เอ็มจีเอส) กับองค์กรพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและพลังงานใหม่ (NEDO) ของญี่ปุ่น ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมุ่งพัฒนาด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล เพื่อเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดย่อย

โครงการวิจัยระบบไมโครกริดมีระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีนี้จนถึง 2551 ครอบคลุมทั้งการออกแบบ สร้างและติดตั้งต้นแบบของระบบเอ็มจีเอส ที่อาคารวิทยาลัยพลังงานทดแทน จากนั้นจะดำเนินการทดสอบการทำงาน ประเมินระบบพร้อมฝึกอบรมการทำงาน และการดูแลรักษาระบบอีกด้วย ทำให้ม.นเรศวรเป็นแห่งแรกของโลก ที่ติดตั้งและใช้งานจริงระบบไมโครกริด

รศ.ดร.วัฒนพงษ์ รักษ์วิเชียร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทน เพิ่มเติมว่า ระบบไมโครกริดคือ การต่อเชื่อมกระแสไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทน ที่มีอยู่ในแต่ละครัวเรือน หรือแต่ละชุมชน เข้าสู่ระบบสายส่งแรงดันต่ำ เพื่อจ่ายให้แก่ครัวเรือนและชุมชน โดยใช้ระบบไอทีควบคุมการซื้อขายไฟฟ้า ต่างจากระบบไฟฟ้าที่ใช้ในปัจจุบัน ที่เป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เข้าสู่ระบบสายส่งแรงดันสูง

กรณี ม.นเรศวร จะเป็นการต่อเชื่อมกระแสไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นเองภายในสถาบัน ประกอบด้วย เซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 120 กิโลวัตต์ ระบบสำรองไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 50 กิโลวัตต์ พลังงานไฟฟ้าที่รวบรวมได้ทั้งหมดประมาณ 150 กิโลวัตต์ ในเบื้องต้นจะนำมาใช้ในวิทยาลัยฯ เพื่อทดแทนไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้หมด 100% จึงช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 6 หมื่นบาทต่อเดือน

อีกทั้งในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วิทยาลัยฯ ไม่มีการเรียนการสอนและไม่ได้ใช้พลังงาน อาจจะส่งต่อไฟฟ้าดังกล่าวให้อาคารที่เปิดใช้งาน เช่น โรงพยาบาล คณะที่มีการสอนในวันหยุด เช่น คณะแพทยศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัย

" วิทยาลัยฯ มีจุดย่อยผลิตกระแสไฟฟ้าหลายจุด ซึ่งให้ขนาดของพลังงานต่างกันตั้งแต่ 5 จนถึง 20 กิโลวัตต์ ทั้งจากเซลล์แสงอาทิตย์ ไบโอแมส-แกสซิไฟเออร์และไบโอดีเซล ไฟฟ้าแต่ละจุดต่างถูกนำไปใช้งานแยกส่วนกัน แต่ไมโครกริดจะทำให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนเหล่านี้ เกิดการต่อเชื่อมกันกลายเป็น "คอมมูนิตี้กริด" " ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ กล่าว

หากโครงการเสร็จเรียบร้อยในอีก 2 ปีข้างหน้า จะทำให้วิทยาลัยพลังงานทดแทนเป็นแห่งแรกของโลก ที่นำเทคโนโลยีไมโครกริดมาใช้งานจริง สำหรับไมโครกริดถือเป็นนวัตกรรมพลังงานทดแทนในอนาคต ที่เปลี่ยนระบบซื้อขายไฟฟ้าทั่วโลกให้มีสายส่ง 2 ระบบขนานกันคือ สายส่งหลักแบบเนชั่นแนล/คันทรี่กริด และสายส่งสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งเอื้อต่อการจ่ายกระแสไฟฟ้าระดับชุมชน อย่าง นิคมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยและกลุ่มอาคาร เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น